วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)

              ระบบเศรษฐกิจแบบผสม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่นำลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมมารวมเข้าไว้ด้วยกัน
              ระบบเศรษฐกิจแบบผสม เรียกกันโดยทั่วๆ ไปอีกอย่างหนึ่งว่า
 "ระบบเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยมใหม่" เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจเกี่ยว กับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่การจะผลิตอะไร ในปริมาณเท่าใด ผลิตอย่างไร และแบ่งปันผลผลิตในหมู่สมาชิกของสังคมอย่างไร
              ระบบนี้รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เอกชนดำเนินการทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่โดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องนำทาง
โดยกิจการใดที่กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐก็จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ  หรือใช้ระบบการแข่งขัน 
              ระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ถือว่าได้รวมเอาข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้ามาไว้ด้วยกัน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความคล่องตัว เพราะใช้ระบบกลไกของรัฐร่วมกับกลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากร           
             สรุปก็คือระบบเศรษฐกิจแบบผสม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบกลไกราคาหรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร

ลักษณะที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบผสม มีดังนี้

  1. เอกชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมกันในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด  กระจายสินค้าและบริการไปสู่ใครอย่างไรบ้าง  ซึ่งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
  2. ทั้งเอกชนและรัฐบาลสามารถจะเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการอย่างเสรี แต่อาจมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการบางประเภทที่รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอาจไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเอกชนไม่ได้อยู่ในฐานะที่เหมาะสมจะดำเนินงานได้เพราะอาจจะขาดแคลนเงินทุนหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ  เช่น กิจกรรมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การรักษาความปลอดภัย การป้องกันประเทศ เป็นต้น
  3. ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ กลไกราคายังเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ แต่รัฐบาลยังมีอำนาจในการแทรกแซงเพื่อกำหนดราคาสินค้าให้มี เสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
  4. รัฐจะคอยให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนด้วยการสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างถนน สะพาน สนามบิน ฯลฯ ไว้คอยอำนวยประโยชน์ต่อเอกชนในการดำเนินธุรกิจ